ปัญหาและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
ปัจจุบันมีการพูดถึงปัญหาการปิดสำนักงานของรัฐบาลสหรัฐเพราะรัฐสภาไม่ยอมอนุมัติงบประมาณอย่างกว้างขวาง
ซึ่ง ปัญหาได้ลามไปสู่ปัญหาที่มีภัยอันตรายมากกว่าหลายเท่าคือปัญหาการที่รัฐสภา ไม่ยอมขยายเพดานหนี้สาธารณะ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่ารัฐบาลสหรัฐจะขาดเงินที่จะนำไปจ่ายคืนหนี้ แต่เป็นเรื่องที่เขียนถึงเป็นรายสัปดาห์ได้ยากเพราะเงื่อนไขต่างๆ พลิกผันได้อย่างวันต่อวันดังที่เห็นกันอยู่และในที่สุดก็ได้ยอมประนีประนอม กันในนาทีสุดท้ายตอนเช้าของวันที่ 17 ตุลาคม (เวลากรุงเทพฯ) เมื่อวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายให้งบประมาณเพื่อรัฐบาลกลับมาทำงานตามปกติถึง 15 มกราคมและขยายเพดานหนี้ออกไปถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ในขณะเดียวกันประธานสภาผู้แทนฯ คือนาย Boehner ก็ประกาศว่าจะไม่ขวางการนำเอาร่างกฎหมายดังกล่าวมาลงคะแนนเสียงในทันที (ด้วยคะแนนเสียง 285-144) ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาสามารถลงนามให้มีผลทางกฎหมายได้ทันก่อนเส้นตายคือ วันที่ 17 ตุลาคมตามเวลาที่สหรัฐอเมริกา
จะเห็นได้ว่ากฎหมาย ดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว เพราะจะต้องกลับมาเจรจากันใหม่อีกโดยเร็วและต้องสามารถอนุมัติขยายงบประมาณ ก่อน 15 มกราคม 2014 มิฉะนั้นก็จะต้องปิดราชการบางส่วนอีก ในขณะเดียวกันแม้กระทรวงการคลังจะมีความยืดหยุ่นในการยักย้ายถ่ายเทเงินสด และหนี้สิน แต่ก็จะต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะอีกภายในเดือนมีนาคม 2014 มิฉะนั้นก็จะทำให้รัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต่อการต้องเบี้ยวหนี้อีก ดังนั้น จึงจะได้มีการเริ่มเจรจากันอีกระหว่างฝ่ายรีพับลิกันกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อลด การขาดดุลงบประมาณ (อันจะลดการสร้างหนี้ของรัฐบาล) แต่มุมมองของประธานาธิบดีโอบามากับฝ่ายรีพับลิกันยังแตกต่างกันอย่างมากเช่น เดิม
กล่าวคือ ประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตต้องการลดรายจ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายเกี่ยว กับการประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการให้น้อยที่สุด โดยต้องการเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีคนรวยและปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะการปิดรูรั่วภาษีนิติบุคคล ในส่วนของพรรครีพับลิกันนั้นน่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายเดโมแครตในประเด็นหลัก ประเด็นเดียวคือการปฏิรูประบบภาษีเพื่อปิดรูรั่วภาษี (เงื่อนไขต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เลี่ยงภาษีและทำให้ระบบการเก็บภาษีมีความสลับซับซ้อนอย่าง มาก) แต่ในส่วนอื่นๆ นั้นรีพับลิกันมองต่างมุมกับประธานาธิบดีโอบามาโดยสิ้นเชิงคือต้องการลดทอน หรือยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้าของประธานาธิบดีโอบามา (ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า Obama care เพราะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีโอบามา) โดยรีพับลิกันมองว่าระบบประกันสุขภาพแบบบังคับดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนระบบ รักษาพยาบาลจากเดิมอาศัยกลไกตลาดเสรีมาเป็นระบบสังคมนิยมที่ให้รัฐบาลเข้ามา มีบทบาทหลักในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการเข้ามาก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของประชาชนและ จะไร้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกับระบบที่ต้องพึ่งพากฎเกณฑ์ของราชการมากว่ากลไก ตลาดเสรี
อีกเรื่องหนึ่งที่มีความเห็นแตกต่างกันคือ ฝ่ายรีพับลิกันคัดค้านการขึ้นภาษีคนรวย เพราะได้ยอมต่อโอบามามาครั้งหนึ่งแล้วและเชื่อว่าหากทำเช่นนั้นอีกก็จะยิ่ง ทำให้การลงทุนและการจ้างงาน (ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของคนรวย) ก็จะลดถอยลงเป็นผลเสียต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น รีพับลิกันจึงต่อต้านการขึ้นภาษีและต้องการเน้นการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายรัฐสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเป็นที่หวงแหนของพรรคเดโมแครตมาก เพราะฐานเสียงของพรรคคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากโปรแกรมรัฐสวัสดิการดังกล่าว และหากต้องลดทอนสิทธิประโยชน์จากรัฐสวัสดิการลงก็ต้อง แลกกับการเก็บภาษีคนรวยให้ได้มากที่สุด
แต่หากถามนักวิชาการซึ่งดูตัวเลข การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชากรสหรัฐกำลังเข้า สู่วัยชรานั้นก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องทำทั้งสองอย่างคือทั้งลดราย จ่ายรัฐสวัสดิการ (โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพจะต้องลดผลประโยชน์ของผู้รับประกันลง) และเพิ่มรายได้คือเก็บภาษีมากขึ้นกับประชาชนสหรัฐทุกคน (ทั้งรวยและจนโดยการเริ่มเก็บภาษีแวตในระดับรัฐบาลกลาง เป็นต้น) แต่ดูเสมือนว่าต่างฝ่ายต่างยังเน้นหลักการของตน (เดโมแครตต้องการเก็บภาษีคนรวย แต่รีพับลิกันต้องการลดรายจ่ายภาครัฐ) มากกว่าเอาความจริงมาพูดกัน ดังนั้น ข้อสรุปที่แท้จริงคือ นโยบายการคลังของสหรัฐในระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้าจำต้องเป็นนโยบายรัดเข็มขัด แต่จะเป็นการรัดเข็มขัดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระบบหรือจะเป็นการลดทอน แบบขาดความชัดเจน เพราะทะเลาะกันไปลดกันไปก็คงต้องติดตามดูต่อไปแต่ดูเสมือนว่าน่าจะเป็นอย่าง หลังมากกว่าย่างแรก ทำให้ผู้ประกอบการและประเทศต่างๆ ขาดความมั่นใจและเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ได้ยากยิ่ง
การที่นโยบายการ คลังมีแต่จะหดตัวนั้นแปลว่ามีเพียงแต่นโยบายการเงินเท่านั้นที่จะเป็นกลไก หลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์ก็จะนึกภาพออกว่าหากเส้น IS จะต้องขยับไปทางซ้ายก็จะต้องแก้โดยการขยับเส้น LM ไปทางขวา (เพื่อไม่ให้จีดีพีตกต่ำ) แปลว่าสภาวะเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐจะมีแนวโน้มทำให้ ดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะแรกก็อาจเป็นการช่วยให้ราคาสินทรัพย์รวมทั้งราคาหุ้นปรับตัวดี ขึ้น แต่ในระยะยาวนั้นหากเศรษฐกิจจริงของสหรัฐไม่ขยายตัวนโยบายดังกล่าวก็จะเพิ่ม ความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการสร้างเงินเฟ้อก็เป็นการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้เช่น กัน (แต่เป็นวิธีที่มีผลกระทบในเชิงลบสูงมาก) และเนื่องจากสหรัฐมีอภิสิทธิ์ในการพิมพ์เงินที่โลกใช้ในการทำธุระกรรม ก็หมายความว่าโลกเสี่ยงต่อการต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน
ข้อ สรุปดังกล่าวอาจจะยังดูฝืนความรู้สึกปัจจุบันที่เงินเฟ้อโดยรวมอยู่ที่ระดับ ต่ำ (เงินเฟ้อไทยเดือนกันยายนเพียง 1.4 % ที่จีน 3%) และทองคำก็ราคาตก แนวโน้มเงินเฟ้อต่ำอาจอยู่กับเศรษฐกิจไปได้อีก 2-3 ปีก็เป็นได้ เห็นจากการที่ไอเอ็มเอฟเพิ่มปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจของโลก อย่างถ้วนหน้าโดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ ปัจจุบันบางประเทศหลัก เช่นจีนก็ยังมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 45% (ของจีดีพี) แปลว่าจีนยังเพิ่มกำลังการผลิตมากแต่บริโภคไม่มาก ในขณะเดียวกันสหรัฐก็ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในการผลิตก๊าซธรรมชาติและ น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วยกระบวนการ hydraulic fracturing (หรือ fracking) ทำให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เงินเฟ้อโดยรวมไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยัง พิมพ์เงินเพิ่มเข้าระบบเดือนละ 85,000 ล้านเหรียญภายใต้นโยบายคิวอี 3 แต่ยังพิมพ์เงินออกไปมากเท่าไหร่ ธนาคารพาณิชย์ก็นำเงินกลับเข้าไปฝากกับธนาคารมากขึ้นเท่านั้น
กล่าว โดยสรุปคือ เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งยังฟื้นตัวไม่เต็มที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวแบบถูกฉุดรั้งโดย นโยบายการคลังที่กระท่อนกระแท่น ขาดความชัดเจน จึงต้องพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ต่อไปอีก แต่สภาวการณ์ปัจจุบันที่อุปสงค์ของโลกยังอ่อนแออยู่ ทำให้โลกยังไม่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อจึงเป็นช่วงที่จะเอื้ออำนวยกับราคา สินทรัพย์ (และหุ้น) แต่ในอนาคตอาจพลิกผันไปสู่ยุคของเงินเฟ้อขยับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นได้ ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้